คนหลายคนกำลงคิดภาพ Brand Marketing

กลยุทธ์ของ Branding และ Marketing แตกต่างกันอย่างไร

 

ในการทำธุรกิจ คำที่เรามักได้ยินบ่อยๆ มีอยู่หลากหลายคำ โดยทั่วไปแล้ว เรามักจะได้ยินคำว่า Branding (การสร้างแบรนด์) กับ Marketing (การตลาด) อยู่บ่อยๆ แล้วคำว่า Branding ต่างกับ Marketing อย่างไรบ้าง 

เพราะ 2 คำนี้เรามักคุ้นเคยในการทำการตลาดเพื่อดึงดูดลูกค้าให้มาสนใจสินค้าของเรา แต่ก็ยังมีความแตกต่างอยู่เพียงเล็กน้อย ในวันนี้เราจะมาอธิบายคำว่า Branding หมายถึงอะไร

Branding คืออะไร?

เรามักเข้าใจคำว่า Brand กันอยู่แล้ว ซึ่งหมายถึงยี่ห้อผลิตภัณฑ์หรือชื่อสินค้า เช่น เมื่อพูดถึงคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ เรามักจะได้ยินยี่ห้อ Dell HP เมื่อพูดถึงโทรทัศน์เรามักจะนึกถึง LG Samsung เป็นต้น ซึ่งคำว่า Branding ก็มีความหมายใกล้เคียงกัน เพียงแต่คำว่า Branding คือการสร้างแบรนด์ สร้างตัวตน สร้างภาพลักษณ์ขององค์กร 

เพื่อให้ลูกค้าจำเราได้ในฐานะผู้ผลิตสินค้าใดสินค้าหนึ่ง และการสร้างแบรนด์นี้จะมุ่งเน้นให้ผู้บริโภคได้รับรู้และเข้าใจว่าสินค้าของเรามีความโดดเด่นกว่าคู่แข่งอย่างไร

ความแตกต่างของ Branding กับ Marketing 

ข้อความ Marketing Branding Strategy บนจอโน้ตบุ๊ค

เป้าหมายการทำ Branding และ Marketing

เป้าหมายของ Branding และ Marketing มีความคล้ายคลึงกัน แต่สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ Marketing จะเน้นขายสินค้าในช่วงระยะเวลาสั้นๆ โดยอาจจะเกาะกระแสหรือเทรนด์ในช่วงใดช่วงหนึ่ง เป็นวิธีกระตุ้นยอดขายในแต่ละช่วงเวลา เช่น ในช่วงคริสมาสต์ ผู้ผลิตและผู้ให้บริการมักจะทำแคมเปญให้ผู้บริโภคร่วมสนุกหรือจะเป็นการลดราคาสินค้า เพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคสนใจสินค้ามากขึ้น

ส่วน Branding จะเป็นการสร้างตัวตนขึ้นมาเพื่อให้ลูกค้าจดจำผู้ผลิตได้ในระยะยาว ยกตัวอย่างเช่น Sony เป็นผู้ผลิตหูฟัง Samsung เป็นผู้ผลิตโทรทัศน์และตู้เย็น

กลยุทธ์การสื่อสารของ Branding และ Marketing

Marketing จะเน้นเหตุผลในการขาย เช่นเหตุผลว่าทำไมคุณถึงต้องมีหุ่นยนต์ดูดฝุ่น หุ่นยนต์ดูดฝุ่นดีอย่างไร ให้ความสะดวกสบายอย่างไร รวมไปถึงโปรโมชั่นลดราคาต่างๆ เป็นต้น

Branding จะเน้นอารมณ์ของผู้บริโภค เน้นสร้างค่านิยมและความเข้าใจให้กับผู้บริโภค เช่นหูฟัง Sony ดีกว่าหูฟังยี่ห้ออื่นๆ ตามท้องตลาดอย่างไร การทำ Branding จะเป็นการทำให้ลูกค้าเกิดความชอบ และจงรักภักดีในสินค้าและบริการของผู้ผลิตหรือที่เรียกว่า (Brand Loyalty) เช่นหากผู้บริโภคได้ทดลองใช้หูฟังของ Sony แล้วก็จะไม่หันไปยี่ห้ออื่นอีกเพราะหูฟังมีความโดดเด่นในฟังก์ชั่น รวมไปถึงเป็นการแสดงตัวตนของผู้บริโภคด้วย

ความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับลูกค้า

ความสัมพันธ์เกิดจากเป้าหมายของการทำทั้งสองอย่างนี้แตกต่างกันไปอย่างที่ได้กล่าวไว้ในหัวข้อเป้าหมายการทำ Branding และ Marketing

โดย Marketing จะเน้นขายสินค้าในระยะสั้น ทำโปรโมชั่นและแคมเปญเป็นระยะ เพื่อกระตุ้นยอดขายเป็นเวลาสั้นๆ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างลูกค้ากับผู้ผลิตเกิดขึ้นในระยะสั้น

ส่วน Branding จะเน้นสร้างความสัมพันธ์ระยะยาว ยกตัวอย่างเช่นแอปเปิ้ลผลิต iPhone ขึ้นมา โดยมี iOS เป็นตัวชูโรง เพื่อไม่ให้ลูกค้าหนีไปหาแบรนด์อื่นๆ และทางฝั่งลูกค้าก็เห็นข้อดีและพร้อมที่จะยืนหยัดอยู่กับแบรนด์แอปเปิ้ลในะยะยาวเช่นกัน

ทำไมการทำ Branding จึงสำคัญ? 

หน้าจอโน๊ตบุ๊กแสดงคำว่า Branding

อย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น การแบรนดิ้งคือการสร้างตัวตน แนวทาง และเป้าหมายของบริษัทเพื่อรักษาความเชื่อใจของลูกค้า ผ่านการเล่าเรื่องราว ความเป็นมา และความสำคัญของสินค้าและบริการที่จะช่วยมอบประสบการณ์ที่ดีๆให้กับลูกค้า 

และยังได้ความนับถือและความเชื่อใจจากลูกค้ากลับมา ดังนั้น การแบรนดิ้งจึงมีความสำคัญในระยะยาวเป็นอย่างมาก การแบรนดิ้งที่ดีควรมีลักษณะดังนี้

  • เข้าใจความต้องการของลูกค้า โดยการสังเกตพฤติกรรมของลูกค้าว่าต้องการอะไรเป็นสิ่งสำคัญ และใช้ตรงนั้นเป็นจุดแข็งให้กับแบรนด์ขึ้นมา เช่น ลูกค้ามีลักษณะนิสัยที่ชอบความเรียบง่าย ไม่ยุ่งยาก ก็อาจจะผลิตสินค้าที่มีดีไซน์ลูกเล่นไม่ซับซ้อน เน้นการใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพโดยที่การใช้งานไม่ยุ่งยากซับซ้อนเกินไป
  • สร้างตัวตนที่ชัดเจน ต้องบอกให้ได้ว่าสินค้าของคุณคืออะไร เหมาะกับใคร และใช้วิธีการสื่อสารอย่างไรให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงสินค้านั้นได้
  • สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ มีความโปร่งใส ทำให้ลูกค้าเห็น หรือรับประกันว่าสินค้ามีผลดีต่อลูกค้าของคุณอย่างไร จากการวิจัยพบว่าลูกค้าจำนวน 66% สนใจในตัวสินค้าโดยเฉพาะเรื่องความโปร่งใส ความจริงใจที่แบรนด์มีต่อลูกค้า
  • สร้างประสบการณ์ที่ดีประหนึ่งว่าลูกค้าได้จับต้องสินค้า ในการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ลูกค้าอาจจะไม่ได้ทดลองหรือได้เห็นสินค้าจริงก่อนตัดสินใจซื้อ ดังนั้นการสร้างแบรนด์ที่ดีจะต้องออกแบบหน้าเว็บที่ดี มีรูปภาพ และการใช้งานอย่างชัดเจน เพื่อให้ลูกค้ามีความรู้สึกเหมือนได้ทดลองสินค้าอยู่จริง
  • เสริมสร้างประสบการณที่ดีให้กับลูกค้า การที่จะมัดใจลูกค้าได้ต้องมีความน่าเชื่อถือ โดยพบว่าลูกค้าจำนวน 69% กล่าวว่าการรู้จักตัวตนหรือไลฟสไตล์ของลูกค้าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับแบรนด์
  • มอบสิ่งดีๆให้กับลูกค้า อย่างที่ทราบกันดีว่าลูกค้าคือพระเจ้า ดังนั้นการขายสินค้าเพียงอย่างเดียวอาจจะยังดูน้อยไปสำหรับการสร้างตัวตนเพื่อให้ลูกค้าเกิดความจงรักภักดีต่อแบรนด์ อีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้ลูกค้าหลงรักในแบรนด์ของคุณก็คือการมอบสิ่งดีๆ ไม่ว่าจะเป็นโปรโมชั่นต่างๆ หรือมอบของที่ระลึกพิเศษในช่วงเทศกาลต่างๆ เพื่อให้ลูกค้าได้ทราบว่าคุณยังเห็นเขาเป็นคนสำคัญ

กลยุทธ์การสร้างแบรนด์ (Branding Strategy) 

กลยุทธ์การสร้าง Storytelling 

Storytelling คือการเล่าประวัติความเป็นมาว่าทำไมบริษัทถึงถูกก่อตั้งขึ้นมา ผู้ก่อตั้งเห็นความต้องการอะไรของลูกค้า หรือเห็นว่าลูกค้าพบปัญหาอะไร จึงได้สร้างสินค้าหรือบริการขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ลูกค้า เช่น Grab สร้างมาเพื่อให้ร้านอาหารมีช่องทางขายอาหารกับลูกค้าที่สามารถสั่งอาหารดิลิเวอรี่ได้ง่ายขึ้น เป็นต้น

กลยุทธ์การทำ Brand Voice

Brand Voice หรือน้ำเสียงของแบรนด์ เป็นการออกแบบโทนหรือความรู้สึกเพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมาย อาจจะเป็นการใช้ข้อความโฆษณาเป็นตัวสื่อสารกับลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าเกิดความเชื่อถือต่อสินค้าและแบรนด์มากขึ้น

เช่น “ iPhone 14 Pro. Pro. Beyond ” หรือแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “ iPhone 14 Pro โปรยิ่งกว่าโปร ” ซึ่งข้อความนี้จะสร้างความรู้สึกให้กับลูกค้าได้เป็นอย่างมาก โดยเน้นคำว่าโปรเพื่อให้ลูกค้ารู้สึกว่าตนเหมาะกับสินค้าชิ้นนี้เนื่องจากเป็นผู้ใช้งานระดับโปร เป็นต้น

กลยุทธ์การทำ Brand Design

Band design คือการออกแบบสินค้ารวมไปถึงช่องทางการขายไม่ว่าจะเป็นการขายบนเว็บไซต์หรือหน้าร้าน การออกแบบที่ดีจะต้องมีสไตล์ที่เข้ากับพฤติกรรมและความสนใจของลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าเห็นแล้วเกิดความชอบในทันที

กลยุทธ์การทำ Brand Values

คุณค่าของแบรนด์มีผลต่อความรู้สึกของลูกค้าเป็นอย่างมาก ซึ่งในส่วนนีจะคล้ายๆ กับ Storytelling เพียงแต่ Brand values จะเจาะลึกถึงความสำคัญว่าทำไมแบรนด์นี้ถึงมีตัวตนและจะช่วยแก้ปัญหาของลูกค้าได้อย่างไร

ขั้นตอนการทำ Branding 

กระบวนการ Branding

ในขั้นตอนการทำ Branding มีดังนี้

  1. คิดก่อนว่าตัวตนของเราคืออะไร มีทิศทางของธุรกิจอย่างไร อยากจะขายสินค้าอะไร และลูกค้ากลุ่มเป้าหมายใด คือสิ่งแรกที่ต้องคิดเพื่อให้สินค้าและบริการของเราตรงกับความต้องการของลูกค้ามากที่สุด
  2. รู้จักลูกค้าเพื่อออกแบบกลุ่มเป้าหมาย เราต้องรู้ว่าลูกค้าที่เราจะเอนเกจคือลูกค้ากลุ่มไหน ช่วงอายุเท่าไร มีไลฟ์สไตล์อย่างไร เพื่อกำหนดทิศทางและเป้าหมายของบริษัท
  3. ความแตกต่างเป็นสิ่งสำคัญในการแบรนดิ้ง เพราะการแบรนดิ้งคือการแสดงตัวตน การที่ลูกค้าจะมองเห็นเราได้ง่ายขึ้น คือการสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง เช่น iPhone ใช้ระบบ iOS ในขณะที่แบรนด์อื่นๆ ใช้ระบบ Android ลูกค้าก็จะให้ความสนใจกับ iPhone มากขึ้น เนื่องจากเป็นตัวเลือกเดียวหากต้องการใช้งานระบบ iOS
  4. สร้างบุคคลิกของแบรนด์ ในการเจาะกลุ่มลูกค้า ลูกค้าแต่ละกลุ่มมักมีบุคคลิกและลักษณะนิสัยแตกต่างกัน ดังนั้นการสร้างจุดยืนของแบรนด์ว่าเหมาะกับลูกค้าที่มีลักษณะนิสัยแบบไหนจึงเป็นสิ่งจำเป็น
  5. การออกแบบโลโก้ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะดึงดูดลูกค้าได้มากขึ้น หากโลโก้มีความเข้าใจยาก เห็นแล้วไม่สะดุดตาภายใน 1-2 วิ ก็อาจจะทำให้ลูกค้าของคุณไม่สนใจแบรนด์ของคุณเลยก็เป็นได้ การออกแบบสี ลวดลาย และความเข้าใจง่ายเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการออกแบบโลโก้ โลโก้ที่ดีควรสื่อสารให้ผู้บริโภคจดจำได้ง่ายและเข้าใจว่าแบรนด์นี้ต้องการขายหรือมอบประสบการณ์อะไรให้กับผู้บริโภค
  6. งานดีไซน์ นอกจากการออกแบบโลโก้แล้ว การออกแบบสินค้า การตกแต่งร้านก็ช่วยดึงดูดลูกค้าได้อีกเช่นกัน ความเรียบง่าย แต่ดูดีมีระดับก็ช่วยให้ผู้บริโภคได้รับประสบการณ์ที่ดี และพร้อมที่จะอยู่กับแบรนด์ของคุณในระยะยาว

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ Branding 

CI Branding คืออะไร

CI Branding หรือ Corporate Identity Branding คือการสร้างภาพจำให้กับผู้บริโภค อย่างเช่นถ้าพูดถึงคอมพิวเตอร์ยี่ห้อ Acer ทุกคนก็คงจะนึกถึงสีเขียว หรือคอมพิวเตอร์ยี่ห้อ HP ก็จะนึกถึงสีฟ้า หรือแม้กระทั่งเกมมิ่งคอมพิวเตอร์อย่าง MSI ก็น่าจะนึกถึงสีแดงกัน 

ซึ่งการออกแบบโลโก้เหล่านี้คือการสร้าง Brand CI เพื่อให้ลูกค้าจดจำคุณได้ แม้ว่าลูกค้าจะจำชื่อไม่ได้ แต่ถ้าให้อธิบายว่าคอมพิวเตอร์ยี่ห้อสีเขียวๆ ยี่ห้อแรกที่นึกออกก็คงไม่พ้น Acer อย่างแน่นอน

Branding กับ Brand แตกต่างกันอย่างไร

จริงๆ แล้ว 2 คำนี้ความหมายแทบไม่ต่างกันเลย ส่วนที่ต่างกันก็คือคำว่า Brand เป็นคำนาม และคำว่า Branding เป็นกริยาซึ่งหมายถึงการสร้างแบรนด์

Brand จึงหมายถึงอัตลักษณ์หรือตัวตนของบริษัทที่แสดงให้ผู้บริโภคเห็น

Branding หมายถึงการสร้างตัวตนขึ้นมา โดยเริ่มจาก 0 หรือยังไม่เป็นที่รู้จัก ให้บริษัทมีความน่าสนใจ น่าเชื่อถือ และเป็นที่รู้จักมากขึ้น

ข้อสรุป Branding 

การแบรนดิ้งเป็นอีกหน่งกลยุทธ์ในการขยายกิจการให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ซึ่งคำว่า Branding นั้นมีความใกล้เคียงกับ Marketing มาก เพราะมีจุดประสงค์เพื่อการขายสินค้าเหมือนกัน เพียงแต่เป้าหมายนั้นต่างกัน 

โดย Marketing จะเน้นทำการตลาดในช่วงระยะเวลาสั้นๆ โดยจะจัดขึ้นในช่วงที่กำลังเป็นกระแสอยู่ ณ ขณะนั้น ทำให้ผู้บริโภคสนใจบริษัทของคุณเพียงชั่วคราว เมื่อหมดช่วงโปร ลูกค้าก็มีแนวโน้มจะไปสนใจสินค้าอื่นๆ ที่มีความใกล้เคียงกัน 

แต่การ Branding นั้นจะเน้นสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าในระยะยาว เน้นแสดงความเข้าใจความต้องการของลูกค้าและออกแบบสินค้าให้ดึงดูดลูกค้าได้มากที่สุด และยังมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่นโปรโมชั่น เพื่อแสดงความจริงใจต่อลูกค้า ทำให้ลูกค้าหลงรักและจงรักภักดีต่อแบรนด์หรือที่เรียกว่า Brand Loyalty นั่นเอง

สุดท้ายนี้หากคุณอยากทำธุรกิจให้มีความยั่งยืน คุณควรที่จะศึกษา Branding ให้ดี เพราะการ Branding นั้นมีความละเอียดอ่อนเป็นอย่างมาก หากผิดพลาดก็อาจจะทำให้คุณเสียฐานลูกค้าไปได้ง่ายๆ ขอให้ผู้ที่สนใจจะเริ่มทำธุรกิจทุกท่านประสบความสำเร็จครับ

Similar Posts