ไขมันในเลือดสูง ภาวะเสี่ยงที่ควรระวัง
ไขมันในเลือดสูง ภาวะเสี่ยงที่ควรระวัง
ภาวะไขมันในเลือดสูง (Dyslipidemia) เป็นภาวะที่ร่างกายมีปริมาณไขมันและคอเลสเตอรอลในเลือดเกินกว่าปกติ เมื่อมีภาวะไขมันในเลือดสูงจะทำให้ไขมันไปสะสมอยู่ตามผนังหลอดเลือดจนเกิดการตีบตัน และทำให้เลือดไหลเวียนได้ไม่สะดวก โดยเฉพาะหลอดเลือดที่ไปเลี่ยงหัวใจ โดยปกติระดับคอเลสเตอรอลในร่างกายไม่ควรเกิน 200 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 มิลลิลิตร
โรคไขมันในเลือดสูงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดต่าง ๆ ระดับไขมันในเลือดมีความสำคัญมากกับหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ผู้ที่เป็นโรคไขมันเลือดสูงจึงมีโอกาสเป็นโรคหัวใจขาดเลือด สมองขาดเลือดทำให้เป็นอัมพาต อัมพฤกษ์ มะเร็งเต้านม และมะเร็งลำไส้ใหญ่มากกว่าคนทั่วไป ดังนั้นผู้ที่คาดว่ามีภาวะไขมันในเลือดสูง ควรเข้ารับการตรวจระดับไขมันในเลือดอย่างน้อย ปีละ 1 ครั้ง
นอกจากนี้ภาวะไขมันในเลือดสูงยังเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น กรรมพันธุ์, พฤติกรรมการทานอาหาร, และการสูบบุหรี่ เป็นต้น วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับภาวะไขมันในเลือดสูงเบื้องต้น ว่าภาวะดังกล่าวเกิดจากอะไร มีวิธีการรักษาและสามารถหลีกเลี่ยงได้หรือไม่ บทความนี้จะช่วยตอบคำถามเหล่านี้ได้
ภาวะไขมันในเลือดสูงคือ?
ภาวะไขมันในเลือดสูง (Dyslipidemia) เป็นภาวะที่ร่างกายมีปริมาณไขมันในเลือดมากกว่าปกติ ซึ่งโดยทั่วไปไขมันในร่างกายของมนุษย์จะประกอบไปด้วยไขมันในเลือด 3 ประเภท ได้แก่ไขมันชนิดความหนาแน่นสูง (HDL)
ไขมันชนิดความหนาแน่นสูง (HDL)
เป็นไขมันชนิดดีที่มีความหนาแน่นสูง ไขมันชนิดนี้เป็นส่วนหนึ่งของคอเลสเตอรอล ซึ่งจะทำหน้าที่ในการดักจับคอเลสเตอรอลต่าง ๆ จากเซลล์ของร่างกายไปทำลายที่ตับ โดยปกติระดับค่าของไขมัน HDL ไม่ควรต่ำกว่า 55 mg/dl เนื่องจากหากมีระดับต่ำเกินไปจะมีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดต่าง ๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้
จากที่ได้กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าปริมาณไขมัน HDL หากไขมันชนิดนี้มีในปริมาณมากก็จะส่งผลให้มีโอกาสในการมีภาวะไขมันในเลือดสูง รวมถึงโรคหลอดเลือดต่าง ๆ ลดลง แต่การเพิ่มขึ้นของไขมันชนิดนี้สามารถทำได้โดยการออกกำลังกายเท่านั้น
ไขมันชนิดความหนาแน่นต่ำ (LDL)
เป็นไขมันชนิดไม่ดี ที่มีความหนาแน่นต่ำ โดยปกติระดับค่าของไขมัน LDL ไม่ควรเกิน 130 mg/dl เนื่องจากไขมันชนิดนี้เป็นส่วนหนึ่งของคอเลสเตอรอล หากมากเกินไปจะเกิดการสะสมที่ทำให้ผนังหลอดเลือดตีบลง โดยจะส่งผลให้เลือดเกิดการไหลเวียนได้ไม่สะดวก และอาจทำให้หลอดเลือดเสียความยืดหยุ่นในภายหลังได้
ไขมัน LDL เป็นต้นกำเนิดของการสังเคราะห์ฮอร์โมนต่าง ๆ ภายในร่างกาย รวมถึงเป็นส่วนประกอบหลักของกรดน้ำดี ไขมันชนิดนี้ร่างกายมนุษย์ไม่สามารถสร้างขึ้นมาได้ จึงต้องได้รับมาจากการทานอาหารที่มีไขมันสัตว์ร่วม แต่จะต้องมีการควบคุมการทานอาหารควบคู่กันไป
ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride)
ไตรกรีเซอไรด์เป็นไขมันชนิดหนึ่ง เกิดจากกระบวนการสังเคราะห์น้ำตาล แป้ง และอาหารของลำไส้เล็กและตับ รวมถึงเกิดจากการเผาผลาญไขมันที่ผิดปกติจากอาหารและโรคบางชนิด ไม่ว่าจะเป็น โรคอ้วน โรคไต รวมถึงการดื่มสุรา และการใช้ยาบางประเภท ค่าปกติของไตรกลีเซอไรด์คือไม่เกิน 150 mg/dl
triglycerides คือ ไขมันที่มีความสำคัญทางด้านโภชนาการที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการให้พลังงานแก่ร่างกาย ช่วยให้การดูดซึมวิตามินต่าง ๆ ดียิ่งขึ้น และยังทำให้อิ่มท้องได้นาน นอกจากนี้ไตรกลีเซอไรด์ยังเป็นพลังงานสะสมที่จำเป็นเมื่อร่างกายมีความต้องการอีกด้วย
ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นโรคไขมันในเลือดสูง
โรคไขมันในเลือดสูงมีสาเหตุการเกิดได้จากหลายปัจจัย โดยกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับภาวะไขมันในเลือดสูงสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่
ผู้ที่สูบบุหรี่
บุหรี่จะมีผลทำให้ระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ (triglycerides) มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น และจะทำให้ไขมัน HDL ซึ่งเป็นไขมันชนิดดีลดลง ส่งผลให้เลือดหนืดมากขึ้น ซึ่งง่ายต่อการเกาะตัวเป็นลิ่มเลือดที่อาจไปอุดตันเส้นเลือด นอกจากนี้บุหรี่ยังเพิ่มการเกาะตัวของไขมัน และคอเลสเตอรอล ซึ่งอาจทำให้เป็นโรคไขมันในเลือดสูงในอนาคตได้
กลุ่มคนที่ไม่ได้ออกกำลังกาย
การไม่ออกกำลังกายนับเป็นสาเหตุแรก ๆ ของการเป็นโรคไขมันในเลือดสูง เนื่องจากการไม่ออกกำลังกายจะทำให้ปริมาณไขมันในเลือดไม่ลดลง และระดับไขมัน HDL ซึ่งเป็นไขมันที่ดักจับคอเลสเตอรอลไปทำลายก็ไม่ได้มีปริมาณที่เพิ่มขึ้น รวมถึงไขมันต่าง ๆ ก็จะมีการสะสมเพิ่มขึ้นจากการทานอาหารต่าง ๆ อีกด้วย
จากที่ได้กล่าวมาจะเห็นได้ว่าการออกกำลังกายเป็นสิ่งใกล้ตัวที่ผู้คนมองข้าม แต่กลับสร้างปัญหาได้มากมาย ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงโรคไขมันในเลือดสูง ควรที่จะออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 3 – 4 ครั้ง ครั้งละ 20 – 30 นาที ในผู้สูงอายุที่มีปัญหาโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหากิจกรรมที่เหมาะสม
ทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวหรือคอเลสเตอรอลสูง
การรับประทานอาหารเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต แต่ถ้าหากทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวหรือคอเลสเตอรอลสูงในปริมาณที่มากเกินความจำเป็นของร่างกาย ร่างกายก็จะสะสมพลังงานที่ได้รับจากอาหารที่เราทานเข้าไปในรูปของไขมัน ซึ่งจะส่งผลไขมันในร่างกายมีปริมาณมากขึ้น และเกิดภาวะไขมันในเลือดสูง และโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดต่าง ๆ ตามมาได้ ซึ่งอาจจะแนะนำ อาหารบำรุงระบบไหลเวียนเลือด จะช่วยบำรุงร่างกายให้คุณแข็งแรง
จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมการทานอาหารเป็นสิ่งที่จะส่งผลโดยตรงกับโรคไขมันในเลือดสูง จึงควรที่จะควบคุมการทานอาหารให้เหมาะสม โดยการทานอาหารให้หลากหลาย หลีกเลี่ยงของทอดและอาหารที่มีไขมันสูง รวมถึงควรรับประทานผักและผลไม้เป็นประจำในทุกมื้ออาหารเพื่อลดการดูดซึมของไขมันจากอาหาร
การวินิจฉัยโรค
โรคไขมันในเลือดสูงในระยะแรกจะไม่แสดงอาการต่าง ๆ ออกมาอย่างชัดเจน การวินิจฉัยโรคจึงเป็นการตรวจหาระดับไขมันแต่ละชนิดจากเลือด หรือ Lipid Profile ผู้ที่ตรวจระดับไขมันในเลือดควรงดอาหารและเครื่องดื่มเป็นเวลา 12 ชั่วโมงก่อนการตรวจ ผลการตรวจแพทย์จะทำการพิจารณาประกอบกับอายุ พฤติกรรมการดำเนินชีวิต และประวัติการป่วยของครอบครัวร่วมด้วย
สำหรับผู้ที่ควรเข้ารับการตรวจระดับไขมันในเลือด ได้แก่
- ผู้ที่มีอายุมาก เนื่องจากระดับของคอเลสเตอรอลมักเพิ่มขึ้นตามอายุ
- ผู้ที่มีความเสี่ยงจากการดำเนินชีวิต เช่น ดื่มสุรา, สูบบุหรี่, ทานอาหารที่มีไขมันและคอเลสเตอรอลสูง และไม่ออกกำลังกาย เป็นต้น
- ผู้ที่ครอบครัวมีประวัติการเป็นโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดต่าง ๆ
- ผู้ที่เป็นโรคบางชนิด เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคต่อมไทรอยด์ เป็นต้น
- ผู้ที่ใช้ยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาคุมกำเนิด สเตียรอยด์ เป็นต้น
หากมีภาวะไขมันในเลือดสูงโดยไม่ทำการรักษาอาจทำให้เกิดการสะสมของไขมันในหลอดเลือดแดง ทำให้เลือดไหลเวียนได้ไม่ดี และจะส่งผลให้ผู้ป่วยอาจมีความดันโลหิตสูงขึ้น รวมถึงอาจทำให้เกิดเป็นลิ่มเลือดหากเกิดการอุดตันที่หัวใจอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจขาดเลือด หรือหากเกิดบริเวณสมองอาจนำไปสู่โรคหลอดเลือดสมองได้
นอกจากนี้เมื่อมีภาวะไขมันในเลือดสูงอาการที่อาจเกิดขึ้นตามมา คือ อาจเกิดภาวะตับอ่อนอักเสบซึ่งจะส่งผลให้ปวดท้อง และหากมีระดับไตรกลีเซอไรด์ (triglycerides) สูงมากเกินไป อาจทำให้เกิดปื้นสีเหลืองบริเวณหนังตา ข้อศอก และฝ่ามือได้ รวมถึงอาจมีอาการปวดตามเนื้อตัวและข้อต่าง ๆ ไปจนถึงอัมพาตได้
วิธีการรักษา
การรักษาโรคไขมันในเลือดสูงสามารถทำได้โดยการควบคุมระดับไขมันในเลือด โดยวิธีพื้นฐานในการรักษาสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 วิธี ดังนี้
- การควบคุมอาหาร
การรักษาโรคไขมันในเลือดสูงโดยการคุมอาหารสามารถทำได้โดย การหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันและคอเลสเตอรอลสูง พยายามปรุงอาหารโดยใช้การต้ม นึ่ง ย่าง อบ แทนการทอด และหันมาทานอาหารเนื้อปลา เนื้อไม่ติดมัน และผักผลไม้ทดแทน
- การออกกำลังกาย
การออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ นอกจากจะทำให้ร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังช่วยลดระดับไขมันในเลือดได้เป็นอย่างดีเช่นกัน ซึ่งจะช่วยลดปริมาณไขมัน LDL ซึ่งเป็นไขมันที่ทำให้เกิดโรคไขมันในเลือดสูง และช่วยเพิ่มปริมาณไขมัน HDL ที่ช่วยดักจับและทำลายคอเลสเตอรอลได้
การออกกำลังกายของผู้ที่เป็นโรคไขมันในเลือดสูงสามารถทำได้โดยการออกกำลังกายทั้งแบบแอโรบิกอย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์ เช่น ดินเร็ว ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ วิ่งเหยาะ เป็นต้น และการออกกำลังกายแบบมีแรงต้านอย่างน้อย 2-3 วันต่อสัปดาห์ เช่น การใช้ดัมเบลหรือบาร์เบล และการใช้ยางยืดต้านแรง
- การใช้ยาลดระดับไขมันในเลือด
ยาลดไขมันในเลือดนับเป็นทางเลือกสุดท้าย หากการรักษาจากการควบคุมอาหาร และการออกกำลังกายไม่สามารถทำให้ระดับไขมันลดลงถึงระดับที่ต้องการได้ แพทย์อาจพิจารณาให้มีการใช้ยาร่วมด้วย ควบคู่กับการติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้การใช้ยาลดไขมันในเลือดควรอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ เนื่องจากตัวยาอาจมีผลข้างเคียงกับผู้ป่วย และมีข้อควรระวังในการใช้งานที่เคร่งครัด แพทย์จึงต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายตามชนิดของไขมัน ความรุนแรงของโรค และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
- การปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตอื่น ๆ
ไม่ว่าจะเป็นการงดการสูบบุหรี่ งดการดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากในระยะยาวทั้งสองสิ่งนี้จะทำให้ไขมันเกิดการเกาะตัวมากขึ้น และยังมีฤทธิ์ในการเร่งให้ไขมันสะสมตามเนื้อเยื่อของร่างกาย นอกจากนี้ยังควรที่จะหลีกเลี่ยงภาวะเครียด เนื่องจากความเครียดจะเป็นการเพิ่มระดับไขมันในเลือด และเป็นการลดกำจัดไขมันอีกด้วย
สรุป
โรคไขมันในเลือดสูงเป็นโรคใกล้ตัวที่เกิดขึ้นได้จากเรื่องใกล้ตัวที่ผู้คนมักมองข้ามไป แม้ว่าอาการในเบื้องต้นมักจะไม่หนัก แต่หากไม่ทำการรักษาและปล่อยให้ร่างกายมีการสะสมของไขมันและคอเลสเตอรอลเป็นระยะเวลานาน โรคนี้อาจส่งผลให้เกิดเป็นโรคแทรกซ้อนที่มีความรุนแรงมากขึ้นตามมาได้ ไม่ว่าจะเป็นภาวะหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง หรืออาจอันตรายถึงชีวิตได้
แม้ว่าโรคไขมันในเลือดสูงจะพบมากในกลุ่มผู้สูงวัย แต่ก็สามารถพบได้ในกลุ่มวัยต่าง ๆ ได้เช่นกัน นอกจากนี้โรคไขมันในเลือดสูงก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเกิดกับผู้ที่มีภาวะอ้วนเสมอไป แต่ผู้ที่มีรูปร่างผอมก็มีภาวะนี้ได้เช่นกัน เนื่องจากไขมันในเลือดเป็นไขมันคนละส่วนกับไขมันใต้ที่สะสมอยู่ใต้ผิวหนัง จะเห็นได้ว่ารูปร่างไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นโรคไขมันในเลือดสูงหรือไม่ จึงจะต้องเข้ารับการตรวจระดับไขมันในเลือดเท่านั้น
ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เป็นโรคไขมันในเลือดสูง ควรเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการบริโภคอาหาร ควบคู่กับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ งดการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงเข้ารับการตรวจระดับไขมันในเลือดเป็นประจำ หากปฏิบัติตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นได้อย่างครบถ้วนก็จะลดโอกาสในการเป็นโรคไขมันในเลือดสูงได้