ผมร่วงเยอะมาก! เกิดจากอะไร จะลดผมร่วงอย่างไรได้บ้าง?
ไม่ว่าจะสระผมแล้วผมตันท่อระบายน้ำทุกครั้ง สางผมหรือหวีผมก็มีเส้นผมติดบนหวีเยอะ หรือกวาดบ้านทีไรก็เจอเส้นผมร่วงบนพื้นเป็นกอบเป็นกำ นั่นอาจเป็นสัญญาณว่าคุณกำลังเผชิญกับปัญหาผมร่วงเข้าแล้ว แต่บางคนอาจไม่ได้สังเกตตนเองมากนัก กว่าจะรู้ตัวก็รู้สึกได้ว่าผมเริ่มบาง เห็นหนังศีรษะชัดขึ้นกว่าแต่ก่อนเสียแล้ว
ผมร่วงเกิดจากอะไร ? สาเหตุผมร่วงมีอะไรบ้าง ? หากคุณกำลังมีปัญหาผมร่วงอยู่จะมีวิธีแก้ผมร่วงอย่างไร? ไปหาคำตอบได้ในบทความนี้เลย
วงจรชีวิตเส้นผม
ปกติแล้วหนังศีรษะของมนุษย์จะมีรูขุมขนอยู่ประมาณ 50,000 รูขุมขน ในรูขุมขนนั้นเป็นจุดที่มีรากผมอยู่และรากผมก็จะเจริญงอกเป็นเส้นผมออกมาจากรูขุมขนในแต่ละรูขุมขนละประมาณ 1-4 เส้น
เมื่อเส้นผมงอกออกมาจากรูขุมขนแล้วก็จะเข้าสู่วงจรชีวิตเส้นผม โดยสามารถแบ่งวงจรชีวิตของเส้นผมได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้
- ระยะเจริญเติบโต (Anagen)
เส้นผมที่งอกออกมาจากรูขุมขนแล้วจะสามารถเจริญเติบโตได้ยาวนานประมาณ 2-6 ปีเลยทีเดียว ขึ้นอยู่กับลักษณะทางพันธุกรรมของแต่ละคน ระยะเจริญเติบโตของเส้นผมนี้เป็นช่วงที่ใช้เวลายาวนานที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงอื่น ๆ ยิ่งระยะการเจริญเติบโตอยู่ได้นานแค่ไหน เส้นผมก็สามารถเพิ่มความยาวได้มากเท่านั้น
ปกติแล้วเส้นผมบนหนังศีรษะประมาณ 80-90% จะอยู่ในช่วงระยะเจริญเติบโต ทำให้เราสามารถเห็นเส้นผมยาวขึ้นได้เรื่อย ๆ อยู่ตลอด
- ระยะหยุดเจริญเติบโต (Catagen)
เมื่อเส้นผมระยะเจริญเติบโตดำเนินมาสู่ระยะหยุดเจริญเติบโตแล้ว เส้นผมเส้นนั้น ๆ ก็จะหยุดงอก เส้นผมไม่เพิ่มความยาวอีก และรากเซลล์ผมก็จะค่อย ๆ ยกตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อรอเวลาที่จะผลัดเส้นผมเก่าออกไป
ปกติแล้วเส้นผมบนหนังศีรษะประมาณ 1% จะเข้าสู่ระยะหยุดเจริญเติบโต และเส้นผมที่อยู่ในระยะนี้จะใช้เวลาเพียงประมาณ 2-3 สัปดาห์เท่านั้น
- ระยะพัก (Telogen)
เมื่อดำเนินมาสู่ระยะพัก รากผมในรูขุมขนนั้น ๆ ก็จะเริ่มฟื้นฟูตนเองเพื่อเตรียมตัวสำหรับการสร้างเส้นผมใหม่ และต่อมรากผมในรูขุมขนก็จะดันตัวขึ้นไปสูงที่สุด ในช่วงระยะนี้จะไม่มีการสร้างเส้นผมขึ้นมาใหม่เลยประมาณ 1-4 เดือน
เมื่อผ่านระยะ 1-4 เดือนมาแล้วต่อมรากผมก็จะลดระดับลงและกลับเข้าสู่ระยะเจริญเติบโตเพื่อสร้างเส้นผมขึ้นมาใหม่ และไปดันให้เส้นผมเก่าหลุดออกจากหนังศีรษะต่อไป ปกติแล้วเส้นผมที่เข้าสู่ระยะพักจะมีเพียงประมาณ 10-15% ของเส้นผมทั้งศีรษะเท่านั้น
ปกติแล้วเส้นผมบนหนังศีรษะก็จะมีวงจรชีวิตวนเวียนกันอยู่ตลอดและไม่ได้เกิดขึ้นทีเดียวพร้อม ๆ กันทำให้เราอาจไม่สังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงว่าเส้นผมกำลังเข้าสู่ระยะใด แต่เมื่อใดที่ระยะการเจริญเติบโตของเส้นผมเริ่มสั้นลงเรื่อย ๆ อาจทำให้คุณสังเกตได้ว่าเส้นผมยาวช้าลง และเริ่มร่วงบ่อยขึ้นนั่นเอง
สาเหตุผมร่วง
จากวงจรชีวิตของเส้นผมจะทำให้เส้นผมของคนเราร่วงอยู่ประมาณ 50-100 เส้นต่อวันเป็นเรื่องปกติ แต่อย่างไรก็ตามหากเส้นผมเริ่มร่วงมากกว่านั้น เพียงแค่หวีผมก็พบว่าเส้นผมติดบนหวีเยอะมาก ๆ จนต้องคอยหยิบออกตลอด หรือกวาดพื้นก็เห็นเส้นผมร่วงเยอะมาก อาจหมายความว่าเริ่มมีอาการผมร่วงเกิดขึ้นแล้ว
อาการผมร่วงที่สร้างความกังวลใจนั้นจะเป็นการที่ผมร่วงมากกว่าการเจริญของเส้นผมบนหนังศีรษะ ทำให้เริ่มสังเกตได้ถึงความหนาแน่นของเส้นผมลดลง ผมบาง และเริ่มเห็นหนังศีรษะชัดขึ้นเรื่อย ๆ และหากอาการผมร่วงรุนแรงมาก ๆ อาจนำไปสู่อาการศีรษะล้านได้ในที่สุด
หลายคนที่มีปัญหาผมร่วงเยอะมาก ผมร่วงเป็นหย่อม ผมร่วงเป็นวงกว้างแทบจะวางเหรียญได้เลยอาจมีความกังวลและเริ่มหาวิธีแก้ผมร่วง แต่ก่อนจะไปหาวิธีแก้ผมร่วงควรจะมาทราบถึงสาเหตุผลร่วงเกิดจากอะไรเสียก่อน เพราะบางครั้งเพียงแค่ทราบสาเหตุผมร่วงก็สามารถแก้ปัญหาผมร่วงได้โดยที่ไม่ต้องรักษาก็ได้
1. ผมร่วงจากพฤติกรรมประจำวัน
ด้วยพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการผมร่วงได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น
- การหวีผมอย่างรุนแรง
การหวีผมอย่างรุนแรงเป็นการทำร้ายเส้นผมโดยตรง ผมชั้นนอกถูกทำลายส่งผลให้ผมขาดร่วงง่าย และหากมีการหวีกระชากบ่อย ๆ ก็จะเป็นการทำร้ายรากผม ทำให้รากผมหลุดออกมาพร้อมกับเส้นผมได้
- การหวีผมในขณะที่เส้นผมเปียก
เส้นผมขณะเปียกน้ำนั้นจะบอบบางกว่าเส้นผมที่แห้ง หากมีการรบกวนเส้นผมอย่างการหวีผมในขณะที่ยังเปียกอยู่ก็จะทำให้เส้นผมขาดร่วงได้ง่าย
- ใช้ความร้อนในการทำให้ผมแห้งเป็นประจำ
เป็นเรื่องปกติเมื่อสระผมเสร็จก็ต้องทำให้เส้นผมแห้ง แต่หลายคนมักจะใช้ความร้อนเพื่อให้แห้งเร็วขึ้น ซึ่งนั่นเป็นการทำให้เส้นผมสูญเสียน้ำ หนังศีรษะแห้ง จนนำมาสู่อาการคันหนังศีรษะและผมร่วงตามมาได้
- การดัด ย้อมสีผม จัดแต่งทรงผมบ่อย ๆ
เพราะการดัด ย้อมสีผม จัดแต่งทรงผมนั้นจะต้องใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นสารเคมี ทำให้เส้นผมอ่อนแอ เส้นผมบางลง แห้งกระด้าง และนำไปสู่อาการระคายเคืองจนทำให้เส้นผมขาดร่วงได้
2. ผมร่วงเพราะขาดสารอาหาร
การรับประทานอาหารจำเป็นต้องรับประทานเพื่อให้ได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน เพราะร่างกายเราต้องการสารอาหารไปใช้ในการฟื้นฟู ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ รวมถึงใช้ในการบำรุงร่างกายอีกด้วย กับเส้นผมเองก็จำเป็นต้องใช้สารอาหารในการบำรุงและฟื้นฟูเช่นกัน
หลายคนที่ไม่ค่อยได้ใส่ใจกับการรับประทานอาหารมากนักมักพบถึงปัญหาทางสุขภาพได้บ่อย ๆ และอีกปัญหาหนึ่งที่พบได้ง่ายคืออาการผมร่วงนั่นเอง แล้วผมร่วงขาดสารอาหารอะไร ?
ปกติแล้วเส้นผมของคนเราจะต้องการสารอาหารกลุ่มโปรตีน วิตามิน เกลือแร่ และแร่ธาตุ เช่น ธาตุเหล็ก สังกะสี วิตามิน B ไบโอติน ซึ่งทั้งหมดนี้มีส่วนในการเจริญของเส้นผม
3. ผมร่วงจากโรคต่างๆ
จะสังเกตได้ว่าผู้ป่วยกำลังเป็นโรคต่าง ๆ เช่น ต่อมไทรอยด์ โรคติดเชื้อต่าง ๆ โรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน โรคไต โลหิตจาง โรคผิวหนังมักจะพบอาการข้างเคียงอย่างผมร่วง ผมบาง
และยังมีโรคที่เกี่ยวกับเส้นผมและหนังศีรษะที่ทำให้เกิดอาการผมร่วงโดยตรงอีกด้วย เช่น โรคผมร่วงทั่วศีรษะ โรคผมร่วงเป็นหย่อม โรคเชื้อราบนหนังศีรษะ
นอกจากนี้ยังมีโรคทางจิตใจที่ส่งผมต่อสุขภาพกายโดยตรงอย่างเช่น โรคดึงผม โรคเครียดที่กระทบถึงสุขภาพกาย เป็นต้น
4. ผมร่วงจากฮอร์โมน
อาการผมร่วงจากฮอร์โมนมักจะพบได้ในเพศชายมากกว่าเพศหญิง โดยปกติแล้วเพศชายจะมีฮอร์โมนที่ชื่อว่าไดไฮโดรเทสทอสเตอโรน (Dihydrotestosterone) และมักจะเรียกกันสั้น ๆ ว่า ฮอร์โมน DHT ซึ่งฮอร์โมนตัวนี้จะส่งผลให้วงจรชีวิตของเส้นผมสั้นลงเรื่อย ๆ ทำให้มีการผลัดเส้นผมถี่กว่าปกติ แถมเส้นผมที่ขึ้นมาใหม่ก็จะบางลงเรื่อย ๆ จนในที่สุดรากผมก็จะฝ่อและเกิดเป็นภาวะศีรษะล้าน
5. ผมร่วงกรรมพันธุ์
ผมร่วงกรรมพันธุ์เป็นสาเหตุผมร่วงที่พบได้ทั้งในเพศชายและหญิง แต่จะพบได้บ่อยในเพศชาย โดยที่จะไปส่งผลสัมพันธ์กับฮอร์โมนโดยตรง ปกติแล้วในเพศชายมีฮอร์โมน DHT อยู่แล้ว แต่เมื่อมีกรรมพันธุ์ที่ทำให้ผมร่วง ก็จะยิ่งทำให้ฮอร์โมน DHT ทำงานดีขึ้นและไปทำให้ผมร่วงมากกว่าเดิม
6. ผมร่วงจากเคมี
หากใครเคยเห็นผู้ป่วยโรคมะเร็งที่เข้ารับการรักษาด้วยการฉายแสงหรือเคมีบำบัดก็มักจะพบว่าผู้ป่วยจะสวมหมวกทั้งนี้เพื่อปกปิดอาการผมร่วงหรือศีรษะล้านที่เป็นผลข้างเคียงจากการรักษานั่นเอง
สาเหตุเพราะเคมีบำบัดที่ใช้รักษาโรคมะเร็งมีคุณสมบัติในการชะลอหรือลดการแบ่งตัวของเซลล์ เพื่อหวังให้เซลล์มะเร็งเจริญเติบโตได้ช้าลง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการรับเคมีบำบัดนั้นไม่สามารถออกฤทธิ์เฉพาะเซลล์มะเร็งได้อย่างเจาะจง ทำให้การเจริญของเซลล์อื่น ๆ ในร่างกายถูกชะงักไปด้วย รวมไปถึงเส้นผมที่หยุดเจริญเติบโตและร่วงไปในที่สุด และนั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดผมร่วงนั่นเอง
7. ผมร่วงหลังคลอด
ภาวะผมร่วงหลังคลอดมักจะเกิดจากการที่ระดับฮอร์โมนในร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงไป ปกติแล้วเมื่อเกิดการตั้งครรภ์ร่างกายจะมีฮอร์โมนเอสโตรเจนในระดับสูงกว่าปกติ ซึ่งฮอร์โมนเอสโตรเจนนั้นส่งผลให้สุขภาพผมแข็งแรง แต่เมื่อคลอดลูกแล้วระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนก็จะกลับเข้าสู่ระดับปกติ ทำให้เส้นผมไม่แข็งแรงเท่ากับตอนที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง ๆ และพบอาการผมร่วงได้
8. ผมร่วงจากความเครียด
ความเครียดนั้นนอกจากจะส่งผลต่อสุขภาพจิตแล้วยังจะส่งผลให้ระบบภายในร่างกายทำงานผิดปกติได้อีกด้วย โดยผู้ที่ผมร่วงจากอาการเครียดนั้นเกิดจากความเครียดไปส่งผลให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายทำงานผิดปกติ หรือความเครียดอาจทำให้วงจรชีวิตของเส้นผมผิดปกติอย่างการเข้าสู่ระยะพักนานกว่าเดิม ทำให้ผมร่วงมากขึ้น เส้นผมงอกใหม่ลดลงหรืองอกใหม่ก็ไม่แข็งแรง ขาดร่วงง่าย
9. ผมร่วงหลังผ่าตัด
ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดอาจพบอาการผมร่วงได้หลังผ่าตัดไปประมาณ 3-4 เดือน โดยสาเหตุอาจเกิดได้ทั้งจากผลข้างเคียงของยาสลบที่ใช้หรือเกิดจากภาวะเครียดก็ได้เช่นกัน
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับผมร่วงเหล่านี้ จริงไหม
เราคงจะเคยได้ยินกันมาไม่น้อยถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการผมร่วง แต่ในความจริงบางอย่างที่คนพูด ๆ กันก็ไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้เกิดผมร่วงแต่อย่างใด
กินคีโตทำให้ผมร่วงไหม
หลายคนชอบพูดกันว่ากินคีโตผมร่วง หากให้บอกว่าการกินคีโตทำให้ผมร่วงไหม คำตอบคือกินคีโตทำให้ผมร่วงจริง เพราะการกินคีโตในช่วงแรกร่างกายจะยังปรับตัวไม่ทันทำให้ร่างกายเกิดความเครียดและส่งผลทำให้เกิดผมร่วง แต่เมื่อกินคีโตไปสักระยะจนร่างกายสามารถปรับตัวได้อาการผมร่วงก็จะหายไปเอง
แพ้ยาสระผม ทำให้ผมร่วงจริงไหม
ยาสระผมมีส่วนประกอบจากสารเคมี สำหรับบางคนที่ผิวบางหรือเซนซิทีฟต่อสารเคมีได้ง่ายก็อาจพบอาการแพ้ยาสระผมได้ แต่อย่างไรก็ตามอาการแพ้ยาสระผมที่เกิดขึ้นมักจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองหนังศีรษะ หนังศีรษะลอกเป็นขุย เป็นผื่นแดงบนหนังศีรษะ และอาจพบอาการผมร่วงได้ แต่จะเป็นอาการผมร่วงเป็นหย่อม ไม่ใช่อาการผมร่วงบางทั้งหนังศีรษะแต่อย่างใด
วิธีรักษาผมร่วง
เมื่อเราทราบถึงสาเหตุที่อาจทำให้เกิดอาการผมร่วงแล้ว เราอาจหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการผมร่วงได้ แต่หากคุณมีอาการผมร่วงไปแล้วก็ไม่ควรปล่อยปละละเลยและรีบเข้ารับการรักษาผมร่วง ยิ่งรักษาผมร่วงเร็วเท่าไหร่ยิ่งมีโอกาสกลับมาเส้นผมแข็งแรงเป็นปกติได้เร็วขึ้น
โดยวิธีรักษาผมร่วงนั้นสามารถรับการรักษาได้ทั้งกับแพทย์หรือการรักษาผมร่วงด้วยตนเอง หรืออาจรักษาควบคู่กันไปก็ได้เช่นกัน
แก้ผมร่วงด้วยวิธีทางการแพทย์
ปกติแล้วการรักษาผมร่วงด้วยวิธีทางการแพทย์จะทำก็ต่อเมื่อลองปรับพฤติกรรมหรือรักษาผมร่วงด้วยตนเองแล้วไม่สามารถแก้ผมร่วงได้ โดยแนวทางการรักษาผมร่วงทางการแพทย์จะมีดังนี้
- รับประทานยาแก้ผมร่วง
- การฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น (PRP)
- การฉีดสเต็มเซลล์ผม
- เลเซอร์รักษาผมร่วง (Fotona Laser, LLLT)
- ปลูกผม FUE หรือปลูกผม FUT
แก้ผมร่วงด้วยตนเอง
หากคุณสังเกตความผิดปกติของเส้นผมอย่างผมร่วงได้ไว สามารถลองแก้ผมร่วงด้วยตนเองก่อนได้ ในบางครั้งเพียงแค่ปรับพฤติกรรมบางอย่างก็สามารถทำให้เส้นผมกลับมาแข็งแรง หยุดร่วงได้โดยที่ไม่ต้องพบแพทย์เลย
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่เน้นการบำรุงเส้นผมและหนังศีรษะ เช่น โปรตีน วิตามิน แร่ธาตุ
- ไม่หวีผมรุนแรง ไม่หวีผมหรือสางผมในขณะที่ผมเปียกอยู่
- ไม่มัดผมแน่นจนเกินไป
- พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เส้นผมและหนังศีรษะถูกความร้อนและสารเคมีบ่อย ๆ
- หลีกเลี่ยงสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียด ทำจิตใจให้ปลอดโปร่ง
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์
วิธีรักษาผมร่วงด้วยการดูแลตนเองแล้ว การรักษากับแพทย์ก็มักจะให้ผู้ป่วยใช้วิธีดูแลตนเองควบคู่กันไปกับการรักษาด้วยเพื่อให้ผลการรักษาประสบความสำเร็จสูงขึ้น
สรุปเรื่องผมร่วง
ผมร่วงเป็นอาการที่เกิดขึ้นเป็นปกติและเกิดข้นได้ทุกวันอยู่แล้ว แต่หากการร่วงของเส้นผมผิดปกติไป เช่น จำนวนเส้นผมที่ร่วงออกมามากกว่าปกติ มีผมร่วงเป็นกระจุก ผมร่วงเป็นหย่อม หรือผมบางลงอย่างเห็นได้ชัด อาจนำมาสู่ปัญหาศีรษะล้านในอนาคตได้
หากพบว่าตนเองกำลังเผชิญปัญหาผมร่วงผิดปกติ ไม่ควรปล่อยไว้และควรจะปรับพฤติกรรมเพื่อลดผมร่วง หรือหากอาการผมร่วงรุนแรงจนไม่สามารถรักษาด้วยตนเองได้ก็ควรจะไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาโดยเร็ว