ปวดสะโพก
|

ปวดสะโพก อย่าฝืน สัญญาณอันตรายที่ไม่ควรมองข้าม

ปวดสะโพกร่างกายกำลังบอกอะไรกับเรา? ทั้งปวดกล้ามเนื้อสะโพก ปวดเส้นเอ็นสะโพก ปวดเอวลงสะโพก ปวดหลังร้าวลงสะโพก เป็นต้น เวลาทำกิจกรรมต่าง ๆ จะเดิน นั่ง ยืนก็รู้สึกปวดสะโพก แม้ว่าโรคจากอาการปวดสะโพกจะพบมากในผู้สูงอายุ แต่แท้จริงแล้วสามารถติดตัวมาตั้งแต่เกิดได้ หากอาการปวดสะโพกทวีความรุนแรงมากขึ้นอาจเป็นสัญญาณเตือนโรคเรื้อรังบางอย่างที่กำลังเกิดขึ้นกับร่างกายของเรา

มาหาคำตอบของอาการปวดสะโพกว่า มีสาเหตุมาจากอะไร ปวดแบบไหนควรไปพบแพทย์ รวมถึงปวดสะโพกแบบนี้เป็นสัญญาณเตือนโรคอะไร ได้ที่บทความนี้


ปวดสะโพก 

ปวดตรงสะโพก

ปวดสะโพก (Hip Pain) เป็นอาการที่สามารถพบได้ในทุกคน ซึ่งจะมีอาการปวดและจุดปวดบริเวณที่แตกต่างกัน เช่น ปวดสะโพกด้านหลัง ปวดสะโพกซ้าย ปวดสะโพกขวา ปวดสะโพกก้มไม่ได้ ปวดหลังร้าวลงสะโพก ปวดกระดูกสะโพก เป็นต้น 

ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มักมาจากกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นบริเวณรอบข้อต่อสะโพก และเนื้อเยื่อได้รับบาดเจ็บ รวมถึงโรคประจำตัวของผู้ป่วยเอง โดยอาการปวดสะโพกนี้จะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้สะดวก


ทำความรู้จัก ข้อสะโพก 

ข้อสะโพก คือ

ข้อสะโพก คือ ข้อต่อขนาดใหญ่ที่ยึดระหว่างกระดูกเชิงกรานและกระดูกต้นขาเข้าไว้ด้วยกัน ทำหน้าที่งอของขาหรือเหยียดเวลานั่ง ยืน เดิน หรือนอน รวมถึงรับน้ำหนักในทุกอิริยาบถของร่างกาย 

โดยข้อสะโพกมีส่วนประกอบหลัก 2 ส่วนหลักคือ หัวกระดูกสะโพก (Femoral Head) มีรูปร่างคล้ายทรงกลม และเบ้าสะโพก (Acetabulum) ซึ่งเป็นส่วนประกอบของกระดูกเชิงกราน มีลักษณะเว้าเป็นหลุมลึกเพื่อรองรับส่วนกลมของกระดูกหัวสะโพก

ทั้งสองส่วนนี้ถูกปกคลุมด้วยกระดูกอ่อนที่มีพื้นผิวเรียบลื่น หนา และแข็งแรง เพื่อรองรับแรงกดของน้ำหนักตัว ช่วยให้ข้อสะโพกสามารถเคลื่อนไหวได้โดยไม่ติดขัด 


ปวดสะโพกเกิดจากสาเหตุใด

อาการปวดสะโพกสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุปัจจัย เช่น จากการทำกิจวัตรประจำวัน อุบัติเหตุ การได้รับบาดเจ็บ เป็นต้น ซึ่งสาเหตุเหล่านี้สามารถแบ่งออกเป็น 2 ปัจจัยหลัก ๆ คือ

ปวดสะโพกจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต

  • พฤติกรรมการใช้ชีวิตในอิริยาบถที่ไม่ถูกต้องเป็นระยะเวลานาน หรือเป็นประจำ เช่น การนั่งขัดสมาธิ การนั่งพับเพียบ การนั่งท่ายอง ยืนทิ้งน้ำหนักข้างเดียว เป็นต้น การกระทำเหล่านี้ก่อให้เกิดการใช้งานของข้อสะโพกในลักษณะที่บิดงอ รวมถึงทำให้เกิดแรงอัดที่ข้อต่อสะโพกมากขึ้น ส่งผลให้ปวดก้น ปวดสะโพก นอกจากนี้การนั่งนานยังเสี่ยงกล้ามเนื้อหนีบเส้นประสาทอีกด้วย
  • การใช้งานที่เกินกำลัง เช่น ยกของหนัก ออกกำลังเกินกำลังหรือหักโหม สามารถทำให้เกิดอาการปวดหลังตรงสะโพกได้
  • ปวดสะโพกที่เกิดจากอุบัติเหตุ เช่น ล้มก้นกระแทก เข่ากระแทก หรืออุบัติเหตุทางรถยนต์ รถจักรยานยนต์

ปวดสะโพกจากอาการทางสุขภาพ

อาการปวดสะโพกยังเกิดได้จากโรคประจำตัวของผู้ป่วย และความเสื่อมของร่างกายเนื่องจากอายุที่เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย ซึ่งอาการทางสุขภาพที่ส่งผลต่อการปวดสะโพก มีดังนี้

  • กระดูกอ่อนบริเวณข้อสะโพกบางลง เมื่ออายุมากขึ้นกระดูกก็จะเริ่มอ่อนแอลง มีโอกาสเกิดภาวะกระดูกเปราะหรือแตกหักได้ ซึ่งสามารถส่งผลทำให้รู้สึกปวดสะโพก
  • โรคที่เกี่ยวกับไขข้อหรือโรคข้ออักเสบต่าง ๆ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุมักพบได้ง่าย ส่งผลให้เกิดการอักเสบที่บริเวณข้อต่อและกระดูกอ่อนของสะโพก จึงทำให้ปวดสะโพก 
  • สะโพกฉีก มาจากการใช้งานกล้ามเนื้อบริเวณข้อต่อของสะโพกมากเกินไป จนทำให้เกิดการฉีกขาดของกระดูกอ่อน การฉีกขาดของกระดูกอ่อนบริเวณข้อต่อสะโพก สามารถก่อให้เกิดอาการปวดที่สะโพกได้
  • การตึงของเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อ เนื่องจากกิจกรรมบางอย่างมีการใช้การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อกับเส้นเอ็นที่รองรับสะโพกมากเกินไป ทำให้เกิดการตึงบริเวณเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อ เมื่อเกิดการตึงก็ส่งผลให้เกิดอาการปวดที่สะโพกได้
  • โรคมะเร็ง สามารถก่อให้เกิดการปวดสะโพกได้ โดยส่วนใหญ่มักเกิดจากการที่มีเนื้องอกในกระดูก แต่การปวดสะโพกเพราะมะเร็งพบได้ไม่บ่อยนัก

ประเภทของอาการปวดสะโพก

ผู้ที่มีอาการปวดสะโพกอาจมีบริเวณที่ปวดที่ไม่เหมือนกัน เช่น ปวดสะโพกขวา ปวดสะโพกซ้าย ปวดสะโพกด้านหลัง เป็นต้น ซึ่งอาการปวดสะโพกแต่ละบริเวณนั้นมักจะมีสาเหตุที่แตกต่างกัน โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ปวดสะโพกขวา ปวดสะโพกซ้าย

อาการปวดสะโพกขวา และปวดสะโพกซ้ายสาเหตุมักเกิดจากการตึงของกล้ามเนื้อ QL (Quadratus Lumborum) กล้ามเนื้อที่มีผลทำให้เกิดอาการปวดสะโพกซ้าย ปวดสะโพกขวา เนื่องจากกล้ามเนื้อ QL นี้ทำหน้าที่ในการยักสะโพก เอียงตัว แอ่นหลัง เป็นต้น เมื่อกล้ามเนื้อ QL ทำงานติดต่อกันก็สามารถทำให้เกิดการเกร็งค้างและเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการปวดสะโพกแต่ละข้างได้

ปวดสะโพกด้านหลัง

อาการปวดสะโพกด้านหลัง เป็นหนึ่งในอาการที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ มักจะเกิดจากคนที่มีภาวะข้อสะโพกเสื่อมจากภาวะกระดูกเสื่อม ข้ออักเสบรูมาตอยด์ กระดูกอ่อนอาจถูกทำลายและทำให้ปวดสะโพกด้านหลังและข้อยึด การรักษาข้อสะโพกเสื่อมสามารถทำได้โดยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแทนที่ข้อสะโพกที่เสื่อมหรือแตกหัก


ปวดสะโพก สัญญาณเตือนโรคอะไรบ้าง

เมื่อเกิดอาการปวดสะโพกเวลาขยับร่างกาย หากปล่อยไว้นาน ๆ อาจเป็นสัญญาณเตือนโรคเรื้อรังบางประเภทได้ ดังนี้

1. โรคข้อสะโพกเสื่อม (Hip Osteoarthritis)

โรคข้อสะโพกเสื่อม

โรคข้อสะโพกเสื่อม (Hip Osteoarthritis) เป็นการสึกกร่อนของกระดูกอ่อนผิวข้อภายในสะโพก และเส้นเอ็นยึดรอบสะโพกได้เริ่มเสื่อมลง โรคข้อสะโพกเสื่อมนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น หัวสะโพกตาย ขาดเลือดจากอุบัติเหตุ เป็นต้น โรคนี้ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดความเจ็บปวดเวลาเปลี่ยนท่าทาง เดินลงน้ำหนักที่ขา หรือขยับสะโพกในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในบางรายอาจเกิดอาการกระดูกข้อสะโพกข้างใดข้างหนึ่งทรุดตัว ทำให้มีปัญหาความยาวของขาไม่เท่ากัน

2. โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท (Herniated Disc)

โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

โรคกระดูกสันหลัง หรือโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท (Herniated Disc) เป็นการที่หมอนรองกระดูกเคลื่อนทับบริเวณเส้นประสาทไขสันหลัง ซึ่งเป็นเส้นประสาทที่ต่อมาจากสมอง ต่อเนื่องลงมาจนสิ้นสุดบริเวณกระดูกสันหลังส่วนล่างที่ติดกับบริเวณส่วนเอว 

สำหรับโรคหมอนรองกระดูกทันเส้นประสาทนั้นเกิดจากความเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลัง อันเนื่องจากมาจากอายุที่เพิ่มมากขึ้นทำให้การรับน้ำหนักผิดปกติไป จึงทำให้ร่างกายเกิดการสร้างกระดูกออกมารองรับน้ำหนักของกระดูกผิดปกติ ซึ่งการที่หมอนรองกระดูกสันหลังมีการทรุดตัวลงร่วมกับการงอกของกระดูก จะส่งผลให้โพรงกระดูกสันหลังแคบลงและเบียดเส้นประสาทไขสันหลัง ทำให้ขณะเดินหรือยืนเกิดอาการปวดร้าวลงขา หรือปวดสะโพกด้านหลัง

3. โรคปวดสะโพกร้าวลงขาจากข้อเชิงกราน (Sacroiliac Joint Dysfunction)

Sacroiliac Joint Dysfunction

โรคปวดสะโพกร้าวลงขาจากข้อเชิงกราน (Sacroiliac Joint Dysfunction) เป็นอาการปวดสะโพกด้านล่างหรือปวดสะโพกด้านหลัง มีสาเหตุมาจากโรคปวดสะโพกร้าวลงขาจากข้อเชิงกราน ซึ่งอาจเกิดจากแรงกระแทกบริเวณหลังส่วนล่าง การใช้งานอย่างหนักของข้อต่อบริเวณกระดูกเชิงกราน เป็นต้น

4. โรคข้อสะโพกขาดเลือด (Avascular Necrosis)

โรคข้อสะโพกขาดเลือด

โรคข้อสะโพกขาดเลือด (Avascular Necrosis) เป็นภาวะที่เลือดมาหล่อเลี้ยงบริเวณหัวกระดูกสะโพกไม่เพียงพอ ทำให้เซลล์กระดูกผิดรูปหรือตายได้ 

โดยสาเหตุของโรคนี้มีหลายสาเหตุ เช่น การใช้ยาสเตียรอยด์ในปริมาณมากและติดต่อกันนาน อุบัติเหตุที่เคยกระทบต่อกระดูกสะโพก ความผิดปกติเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด รวมถึงการดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น

5. โรคกลุ่มภูมิแพ้ตัวเอง (Autoimmune Disease)

โรคข้อสะโพกเสื่อม

โรคกลุ่มภูมิแพ้ตัวเอง (Autoimmune Disease) เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของตัวผู้ป่วยทำลายเนื้อเยื่อปกติภายในร่างกายของตนเอง ส่งผลให้เกิดการอักเสบและเกิดความผิดปกติกับอวัยวะได้ทั่วร่างกาย โดยโรคในกลุ่มภูมิแพ้ตนเองที่ทำให้มีอาการปวดสะโพก เช่น

  • โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือ SLE เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำลายเยื่อบุข้อสะโพก จึงส่งผลให้เกิดการทำลายผิวข้อและเกิดการอักเสบขึ้น
  • โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังของเยื่อหุ้มข้อต่อ เช่น ข้อต่อนิ้วมือหรือนิ้วเท้า ข้อเข่าหรือข้อต่อสะโพก ซึ่งการอักเสบเรื้อรังนี้สามารถก่อให้เกิดการทำลายผิวข้อที่สร้างอาการปวดข้อสะโพกได้

ปวดสะโพก เมื่อไหร่ควรพบแพทย์

ถ้าหากผู้ที่ปวดสะโพกลองบรรเทารักษาอาการปวดสะโพกด้วยวิธีต่าง ๆ แล้วแต่ยังไม่ดีขึ้น ควรเข้าปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริง และวางแผนการรักษาต่อไป แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าปวดสะโพกเมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์ ? สำหรับวิธีการสังเกตอาการปวดสะโพกเมื่อไหร่ไปพบแพทย์ ได้แก่

  • ไม่สามารถขยับสะโพกหรือขาทั้งสองข้างได้ หรือไม่สามารถขยับได้ข้างใดข้างหนึ่ง
  • ขาไม่สามารถรองรับน้ำหนักได้
  • ปวดสะโพกอย่างรุนแรง
  • เกิดอุบัติเหตุ หรือแรงกระแทกอย่างรุนแรงที่ทำให้ปวดกระดูกสะโพก หรือปวดตรงสะโพก
  • ข้อต่อสะโพกผิดรูป เช่น บวมอย่างเฉียบพลัน
  • ไม่สามารถลงน้ำหนักที่สะโพกได้
  • มีอาการบวม แดง หนาวสั่น มีไข้ ซึ่งอาจเกิดการติดเชื้อ

การตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์

ตรวจอาการปวดสะโพก

ขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์เบื้องต้น แพทย์จะทำการซักประวัติของผู้ป่วยที่มีอาการปวดสะโพก เกี่ยวกับอาการที่เป็นอยู่ เช่น เริ่มปวดสะโพกครั้งแรกเมื่อไหร่ สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้หรือไม่ เป็นต้น เพื่อประเมินอาการคร่าว ๆ รวมถึงสังเกตการเคลื่อนไหวของข้อต่อสะโพก นอกจากนี้หากพบว่ามีอาการที่ผิดปกติ แพทย์อาจมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุอาการปวดสะโพกที่แท้จริง โดยใช้วิธีดังนี้

  • การเอกซเรย์ (X-rays)
  • การตรวจหาความผิดปกติของร่างกาย โดยใช้เครื่องสนามแม่เหล็ก และคลื่นความถี่วิทยุ (MRI Scans)
  • การตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายโดยการ ฉายรังสี (CT Scans)
  • อัลตราซาวด์ (Ultrasound)

วิธีรักษาอาการปวดสะโพก

วิธีรักษาอาการปวดสะโพกสามารถทำได้หลากหลายวิธี ดังนี้

การบรรเทาอาการปวดสะโพกด้วยตัวเองเบื้องต้น

แก้อาการปวดสะโพก

  • ลดการเคลื่อนไหวสะโพก

ผู้ที่ปวดสะโพกควรลดการเคลื่อนไหวร่างกายที่ทำให้เกิดแรงกดทับที่สะโพกหรือ การงอ เช่น นั่งสมาธิ การนั่งพับเพียบ หรือการนั่งเป็นระยะเวลานาน

  • การประคบร้อน-เย็น

การประคบร้อนด้วยน้ำอุ่น หรือถุงประคบร้อน รวมทั้งประคบเย็นด้วยน้ำแข็งจะชาวยลดอาการปวดสะโพกได้ เพราะการประคบจะช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัวได้

  • การบริหารร่างกาย

สำหรับผู้ที่มีอาการปวดสะโพกสามารถใช้การบริหารร่างกายบรรเทาอาการปวดได้ เพื่อช่วยให้เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อรอบข้อต่อสะโพกคลายลง และยังเป็นวิธีที่ช่วยให้เนื้อหลังและกล้ามเนื้อสะโพกกลับมาแข็งแรงได้

การรักษาทางการแพทย์

ผ่าตัดเปลี่ยนสะโพกเทียม

  • การใช้ยาบรรเทาอาการปวด

หากผู้ที่มีอาการปวดสะโพกมาก ๆ สามารถเข้าปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อขอรับประทานยาบรรเทาอาการปวดได้ เช่น แอสไพริน (Aspirin) อะเซตามีโนเฟน (Acetaminophen) เป็นต้น

  • การทำกายภาพบำบัด

การทำกายภาพบำบัดจะช่วยบรรเทาอาการปวดสะโพก สร้างความยืดหยุ่นให้กับข้อต่อ และช่วยปรับข้อสะโพกให้กลับมาสมดุล ทั้งนี้ควรอยู่ภายใต้การดูแลของนักกายภาพบำบัดหรือแพทย์เท่านั้น เพราะถ้าหากทำผิดวิธีอาจทำให้อาการปวดสะโพกรุนแรงขึ้นได้

  • การฉีดสเตียรอยด์

ผู้ที่มีอาการปวดสะโพกรุนแรง แพทย์อาจจะต้องพิจารณาการฉีดสเตียรอยด์เพื่อบรรเทาอาการปวด และบรรเทาอาการอักเสบ ทั้งนี้การฉีดสเตียรอยด์เป็นการลดความปวดชั่วคราวเท่านั้น ถ้าหากผู้ป่วยยังมีอมการปวดสะโพกหลังฉีดสเตียรอยด์ แพทย์อาจจะแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนสะโพกเทียมแทน

  • การผ่าตัดเปลี่ยนสะโพกเทียม

ผู้ป่วยอาการปวดสะโพกที่ได้ลองรักษาด้วยวิธีอื่นมาแล้ว แต่อาการยังไม่ดีขึ้น การผ่าตัดเปลี่ยนสะโพก (Hip Replacement) เทียมเป็นการรักษาที่เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่สามารถรักษาอาการปวดสะโพกด้วยวิธีอื่นได้ รวมทั้งผู้สูงอายุที่มีภาวะข้อสะโพกเสื่อมอย่างรุนแรง เนื่องจากเป็นการผ่าตัดที่มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนต่ำ เพราะเป็นการนำเอาส่วนของข้อต่อสะโพกเดิมที่เสื่อมสภาพออก และแทนด้วยข้อสะโพกเทียม 

หลังผ่าตัดผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตและทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ อาการปวดสะโพกลดลงชัดเจน นอกจากนี้ข้อสะโพกเทียมยังมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 20-25 ปี อีกด้วย


ป้องกันการปวดสะโพกด้วยตนเอง

อาการปวดสะโพกสามารถเกิดได้กับทุกคนและทุกช่วงวัย โดยส่วนใหญ่มักเกิดจากการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันที่ทำให้เกิดอาการปวดสะโพก สำหรับผู้ที่อยากป้องกันอาการปวดสะโพกด้วยตนเองเพื่อช่วยรักษาข้อต่อสะโพกให้อยู่นานขึ้น มีแนวทางการป้องกันดังนี้

  • ปรับเปลี่ยนท่านั่งให้เหมาะสม หลีกเลี่ยงการนั่งขัดสมาธิ นั่งพับเพียบ ถ้าหากมีเหตุจำเป็นควรแบ่งเวลาลุกออกมาเพื่อยืดเส้นยืดสาย
  • ควรออกกำลังเบา ๆ เช่น ว่ายน้ำ เต้นแอโรบิกเบา ๆ เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อ ข้อต่อ และเส้นเอ็นรอบ ๆ สะโพกคลายตัวลง ทั้งนี้ก่อนออกกำลังกายควรยืดกล้ามเนื้อทุกครั้ง
  • สวมรองเท้าที่พอดีกับรูปเท้า เพื่อให้รองรับกับน้ำหนักตัว
  • พยายามควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินเกณฑ์มาตรฐาน เนื่องจากข้อต่อสะโพกจะเป็นข้อต่อที่รองรับน้ำหนักร่างกายส่วนบนทั้งหมด
  • ออกกำลังกายและทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อเสริมสร้างให้ข้อต่อ กล้ามเนื้อแข็งแรง

ข้อสรุป

อาการปวดสะโพกเป็นอาการที่ไม่ควรปล่อยมองข้ามไป และถ้าหากยังมีอาการรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงโรคบางชนิดได้ ทั้งนี้ผู้ที่มีอาการปวดสะโพกเรื้อรังควรเข้าพบแพทย์เพื่อปรึกษาอาการ ทำการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริง และทำการรักษาอย่างถูกวิธี เพราะถ้าหากปล่อยทิ้งไว้และมีอาการรุนแรงอาจจะต้องผ่าตัดเปลี่ยนสะโพกเทียมเท่านั้น


Similar Posts